11 พฤศจิกายน 2556 เป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยทั้งประเทศต้องจดจำ เมื่อศาลโลกนัดตัดสินคดีกัมพูชาขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ที่ศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเวลา 16.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
ติดตามการรายงานสดคำตัดสินนาทีต่อนาที ได้ที่นี่ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

รายงานสดคำตัดสินคดีปราสาทเขาพระวิหาร 16.00 น. ผู้พิพากษาศาลโลกขึ้นนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีพระวิหารที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์
16.12 น. ผู้พิพากษาศาลโลกเริ่มด้วยการสรุปเกี่ยวกับคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ตามด้วยคำฟ้องของกัมพูชาที่ให้ยื่นขอตีความใหม่
16.19 น. ศาลโลกรับตีความคำร้องของกัมพูชา และมีอำนาจที่จะตีความคำพิพากษา ปี 2505
16.24 น. ศาลปฏิเสธที่จะตัดสินตามคำขอของกัมพูชา ที่ให้รับรองสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 ในฐานะเครื่องกำหนดเส้นเขตแดน เพราะอยู่นอกเหนือขอบเขตคำพิพากษาเดิม และจะพิจารณาคำพิพากษาปี 2505 เฉพาะบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น
16.38 น. ศาลบอกว่าการขีดเส้นตามมติ ครม. ปี 2505 ไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาของศาล เพราะไม่ได้กำหนดตามแผนที่ภาคผวนก 1 แต่กำหนดตามสันปันน้ำ
16.55 น. ศาลโลกมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่ากัมพูชามีอธิปไตยในดินแดนทั้งหมดของปราสาทพระวิหาร และประเทศไทยต้องถอนทหารตำรวจจากเขตแดนดังกล่าว และให้ไปเจรจากันเอง
สรุปศาลไม่ได้ตีความเกินขอบเขตคำพิพากษาเดิม 2505 / พิพากษาเฉพาะตัวปราสาทไม่แตะพื้นที่ 4.6 ตร.กม. สั่งย้อนดูวรรค 98 ของคำพิพากษาเดิม
ท่านทูตวีระชัย แถลงศาลโลกไม่ได้ให้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และภูมะเขือ แก่กัมพูชา แต่จะมีพื้นที่เล็กมากๆ ซึ่งกำลังคำนวณอยู่

ย้อนรอย”คดีพระวิหาร” ก่อนถึงวันพิพากษา
คดีที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “คดีพระวิหาร” ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กำหนดมีคำพิพากษาในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้นั้น มีที่มาจากการที่ทางการกัมพูชายื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 และขอให้ศาลโลกออกคำสั่งมาตรการชั่วคราว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554
การขอตีความดังกล่าวนั้น ทางฝ่ายกัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิมว่า คำพิพากษาเดิมดังกล่าวได้ตัดสินเรื่องเขตแดนไว้หรือไม่ ซึ่งกัมพูชาเห็นว่าศาลได้ตัดสินเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว โดยตัดสินให้เป็นไปตามแผนที่ “ภาคผนวก 1” ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็น “แผนที่ประกอบในคำพิพากษา” เมื่อปี 2505 ดังกล่าว ในขณะที่ไทยยืนยันว่าเป็นเพียง “แผนที่ประกอบคำฟ้อง” ต่อศาลเท่านั้นเอง
เพื่อต่อสู้คดีดังกล่าวนี้ คณะทำงานที่ประกอบด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ นำโดย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ได้กำหนดแนวทางเพื่อต่อสู้คดีไว้หลักๆ 4 ประการดังต่อไปนี้
1.ศาลไม่มีอำนาจในการตีความ เนื่องจากคู่กรณีไม่ได้มีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 ฝ่ายไทยเห็นว่า คำพิพากษาเดิมดังกล่าวนั้นมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ในขณะเดียวกันทั้งไทยและกัมพูชา ต่างก็เห็นตรงกันในสารัตถะของคำพิพากษาดังกล่าวมาตลอดตั้งแต่ปี 2505 แต่ทางการกัมพูชาเพิ่งจะเปลี่ยนแปลงท่าที ไม่เห็นด้วยขึ้นมาเมื่อปี 2550 นี่เอง เพราะต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ไทยเสนอหลายครั้งแล้วให้ขึ้นทะเบียนร่วมกัน
2.เมื่อคำพิพากษามีความชัดเจน และไทยซึ่งแม้จะไม่ยอมรับ แต่ก็ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา ปี 2505 ไปครบถ้วนแล้วทุกประการ การปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวก็เป็นที่ยอมรับของฝ่ายกัมพูชาอย่างเป็นทางการแล้วเช่นกัน
ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว ด้วยการถอนกำลังตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทพระวิหาร และบริเวณใกล้เคียงปราสาท ตามขอบเขตซึ่งกำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ซึ่งเป็นขอบเขตที่สอดคล้องกับขอบเขตของพื้นที่พิพาทในคดีนี้แต่เดิมตามความเข้าใจทั้งของคู่ความและของศาล
3.คำขอให้ตีความของฝ่ายกัมพูชานั้น เป็นคำขอตีความในส่วนที่เป็น “เหตุผล” ประกอบคำพิพากษา ไม่ใช่ในส่วนที่เป็น “คำตัดสิน” โดยเป็นการขอให้ศาลตัดสินชี้ขาดในสิ่งที่ศาลเคยปฏิเสธที่จะตัดสินชี้ขาดไปแล้วอย่างชัดแจ้งในปี 2505 ซึ่งได้แก่เรื่อง “เส้นเขตแดน” และเรื่อง “สถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1”
ดังนั้น คำขอตีความของกัมพูชา จึงไม่ใช่เป็นคำขอตีความ แต่เป็นการอุทธรณ์คดีที่แฝงมาในรูปของการขอตีความ ซึ่งขัดกับธรรมนูญของศาลและขัดกับแนวคำพิพากษาของศาลในเรื่องของการตีความ
4.ฝ่ายไทยยืนยันว่า คำว่า “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาปี 2505 นั้น เป็นคนละเรื่องกันกับคำว่า “ดินแดนกัมพูชา” ดังนั้น การกำหนดพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” ตามคำพิพากษาเดิม จึงไม่ใช่การกำหนดเส้นเขตแดน และขอบเขตของพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” ดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตเป็นเส้นเขตแดน
นอกจากนั้น ยังชี้ให้ศาลเห็นด้วยว่า แผนที่ซึ่งฝ่ายกัมพูชาใช้ในคดีเดิม เมื่อปี 2505 กับแผนที่ซึ่งนำมาใช้อ้างว่าเป็นแผนที่ในภาคผนวก 1 ในการตีความครั้งนี้ เป็นแผนที่คนละแผนที่กัน เป็นการเลือกหยิบเอามาใช้ตามอำเภอใจ
ความแตกต่างระหว่างแผนที่เดิมของฝ่ายกัมพูชากับการกำหนดขอบเขตพื้นที่ “ใกล้เคียงปราสาท” ของไทยนั้น แตกต่างกัน “เพียงไม่กี่เมตร” ตามความเห็นของฝ่ายกัมพูชาเอง แต่แผนที่ภาคผนวก 1 ที่นำมาอ้างใหม่ในศาลวันนี้ กลับมีพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไปมากถึง 4.5 ตารางกิโลเมตร
ด้วยเหตุผลตามข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ ฝ่ายไทยขอให้ศาลพิพากษาและชี้ขาดว่า
1.คำร้องขอให้ศาลตีความของฝ่ายกัมพูชานั้น ไม่เข้าเงื่อนไขที่ระบุไว้ และด้วยเหตุนี้ศาลจึงไม่มีอำนาจในการรับพิจารณาคำร้องดังกล่าว และไม่มีอำนาจที่จะตอบคำร้องดังกล่าวนั้น
2.ศาลไม่มีเหตุผลที่จะให้เป็นไปตามคำร้องขอของฝ่ายกัมพูชา และไม่มีเหตุผลที่จะตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505
3.ขอให้ศาลชี้ขาดอย่างเป็นทางการว่า คำพิพากษาเดิมในปี 2505 นั้น ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยเส้นเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยและกัมพูชา โดยมีผลผูกพันและไม่ได้กำหนดขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาทเอาไว้ในคำพิพากษาดังกล่าว
ส่วนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่เป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติ จะพิพากษาคดีนี้ว่าอย่างไร
คนไทยทั้งประเทศต่างเฝ้าติดตามกันในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้นั่นเอง…