เขื่อนแก่งกระจาน
เพชรบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ เคยเป็นเมือง หน้าด่าน สำคัญ ชั้นเมือง ลูกหลวง ของไทย มาช้านาน และมีชื่อเสียง เลื่องลือ หลายด้าน นอกจาก จะเคยเป็นเมือง ที่ประทับ ของอดีต พระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี ยังมีสถานที่ท่องเที่ยว สำคัญ หลายแห่ง ซึ่งรวมทั้ง เขื่อนไฟฟ้า พลังน้ำ ที่มีความงดงาม อีกแห่งหนึ่ง ของการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นั่นคือ “เขื่อนแก่งกระจาน”

การเดินทาง :
เขื่อนแก่งกระจาน อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีเพียง ๕๓.๕ กิโลเมตรเท่านั้น การเดินทาง สามารถไปได้ ๒ ทาง คือ ไปทางอำเภอท่ายาง ขับรถต่อไปอีกประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ก็จะถึงเขื่อน หรือ ไปตาม ทางหลวง หมายเลข ๔ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๑๖๖-๑๖๗ จะมีทางแยก ขวามือ เข้าไป ตัวเขื่อน ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร

สิ่งอำนวยความสะดวก :
เมื่อเดินทางถึงเขื่อนแก่งกระจาน ท่านสามารถติดต่อสอบถาม รายละเอียดต่างๆ ได้จากเจ้าหน้าที่ ซึ่งทาง เขื่อนได้จัดบริการ รวมทั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่คอยต้อนรับ และอำนวยความสะดวกแก่ ผู้มาเยี่ยมชมและพักแรม อย่างเต็มที่

การสำรองที่พัก
สำหรับผู้ที่จะไปพักแรม ควรติดต่อจองบ้านพักไว้ล่วงหน้า เนื่องจากจำนวนบ้านพักมีจำกัด โปรดสอบถาม การจองบ้านพักได้ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย นนทบุรี โทร. 436-3179 , 424-4794

ลักษณะเขื่อน :
เขื่อนแก่งกระจาน สร้างปิดกั้น แม่น้ำเพชร ที่บริเวณ เขาเจ้า และเขาไม้รวก ประชิดกัน ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เขื่อนนี้ อยู่ทางด้านเหนือน้ำ ของเขื่อนเพชร ขึ้นไปตามแนวถนน ๒๗ กิโลเมตร นอกจาก ตัวเขื่อน ยังมีเขื่อนดิน ปิดเขาต่ำ ทางขวาง ของเขื่อนอีก ๒ แห่ง คือ แห่งแรกสูง ๓๖ เมตร สันเขื่อนยาว ๓๐๕ เมตร แห่งที่ ๒ สูง ๒๔ เมตร สันเขื่อนยาว ๒๕๕ เมตร เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำ ได้มากขึ้น

เขื่อนแก่งกระจาน เป็นเขื่อนดิน มีความสูง ๕๘ เมตร ความยาวสันเขื่อน ๗๖๐ เมตร ความกว้าง ๘ เมตร ระดับสันเขื่อน ๑๐๖ เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง)

อ่างเก็บน้ำ มีพื้นที่ ๔๖.๕ ตารางกิโลเมตร มีความจุ ๗๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร

โรงไฟฟ้า ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน ๑ เครื่อง ขนาดกำลังผลิต ๑๙,๐๐๐ กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ ๗๐ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยมีสายเชื่อมโยงไฟฟ้าแรงสูง จากเขื่อนแก่งกระจานไปยัง สถานีไฟฟ้าแรงสูงชะอำ เป็นระยะทาง ๔๐-๔๑ กิโลเมตร

เขื่อนแก่งกระจาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ แล้วเสร็จ พ.ศ.๒๕๐๙ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออำนวยประโยชน์ ในด้านการชลประทาน บริเวณที่ราบจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังมีประโยชน์ ด้านการประมง การคมนาคมทางน้ำ และการพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ

ต่อมาเมื่อความต้องการ พลังงานไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอย่างมาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงได้พิจารณาติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่เขื่อนแก่งกระจาน โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๔ แล้วเสร็จ และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เมื่อเดือน สิงหาคม ๒๕๑๗

ประโยชน์ :
เขื่อนแก่งกระจาน เป็นเขื่อนเอนกประสงค์ ประโยชน์ที่ได้ จากเขื่อนนี้ มีหลายประการ คือ

๑. เขื่อนแก่งกระจานสามารถผลิต กระแสไฟฟ้าไฟ้ ๑๙,๐๐๐ กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ย ปีละ ๗๐ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

๒. สามารถขยายเนื้อที่ชลประทาน ของโครงการเพชรบุรี ซึ่งเดิมมีอยู่จำนวน ๒๑๔,๐๐๐ ไร่ เพิ่มเป็น ๓๓๖,๐๐๐ ไร่ และเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ได้ ๑๗๔,๐๐๐ ไร่ อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหา การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ตั้งแต่ปากอ่าวเพชรบุรี จนถึงหัวหินให้หมดไป และช่วย บรรเทาอุทกภัยในทุ่งเพชรบุรี

๓. เป็นแหล่งส่งเสริมการประมง

๔. เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีทิวทัศน์สวยงาม อีกแห่งหนึ่งของประเทศ

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง :
เพชรบุรี มีสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ หลายแห่ง ทั้งที่เป็น โบราณสถาน และ ที่เกิดขึ้นเองอย่าง สวยงาม ตามธรรมชาติ เช่น

ถ้ำเขาย้อย
อยู่บนเขาย้อย อำเภอเขาย้อย ห่างจากตัวเมือง ๒๒ กิโลเมตร ในถ้ำ มีพระพุทธรูป ปางต่างๆ ประดิษฐานอยู่ และที่แห่งนี้ เคยเป็นที่ประทับ นั่งกรรมฐาน ของพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช

เขาวัง
อยู่ในอำเภอเมือง สูง ๙๒ เมตร พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวัง ขึ้นบนเขาวัง สำหรับ เป็นที่แปรพระราชฐาน พระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” แต่ชาวเมืองยังคงเรียก เขาวัง ติดปาก มาจนทุกวันนี้

เขาบันไดอิฐ
เป็นเขาขนาดย่อม มียอดสูง ๑๒๑ เมตร อยู่ห่างจากเขาวัง ประมาณ ๒ กิโลเมตร บนเขาบันไดอิฐ มีวัดเก่า สมัยอยุธยา ชื่อวัดเขาบันไดอิฐ บนเขานี้ มีถ้ำ อยู่หลายแห่ง เช่น ถ้ำประทุน ถ้ำพระเจ้าเสือ ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น

ถ้ำเขาหลวง
อยู่บนเขาหลวง ซึ่งสูงเพียง ๙๒ เมตร ห่างจากเขาวัง ประมาณ ๕ กิโลเมตร ถ้ำเขาหลวง นับเป็นถ้ำใหญ่ และสำคัญ ที่สุด ของเมืองเพชรฯ เพราะ ภายในถ้ำ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูป ฉลองพระองค์ อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างถวาย พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หาดเจ้าสำราญ
อยู่ห่างจาก ตลาดเมืองเพชรบุรี ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เป็นชายหาด ที่เป็นสถานที่ ท่องเที่ยว สำคัญ มาแต่สมัยโบราณ มีประวัติเล่ากันว่า สมเด็นพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จฯ มาประทับที่นี่ พร้อมด้วยสมเด็จ พระเอกาทศรถ พระอนุชา ทรงพอพระราชหฤทัย ในความงดงาม ของชายหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรม อยู่หลายวัน จนชาวบ้าน เรียกหาดนี้ว่า “หาดเจ้าสำราญ” มาจนทุกวันนี้

หาดชะอำ
อยู่ในอำเภอชะอำ ห่างจากตัวเมือง ๔๑ กิโลเมตร เป็นชายหาด ที่มีความงดงามมาก อีกแห่งหนึ่ง ของเพชรบุรี

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
อยู่ระหว่าง ชะอำ-หัวหิน แยกซ้ายมือ เข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร เคยเป็นที่ประทับ แปรพระราชฐาน ของพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยุ่หัว ในฤดูร้อน