เขาค้อ
เขาค้อ เป็นชื่อเรียกรวมบริเวณเทือกเขาน้อยใหญ่ของทิวเขาเพชรบูรณ์ด้านใต้ มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ภูเขาที่สำคัญในเทือกนี้ได้แก่ เขาค้อ มียอดเขาสูงประมาณ 1,174 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เขาย่า มียอดสูงประมาณ 1,290 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และเขาใหญ่ สูงประมาณ 865 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล นอกจากนั้นก็มีเขาตะเคียนโง๊ะ เขาหินตั้งบาตร เขาห้วยทราย เขาอุ้มแพ เป็นต้น

ลักษณะป่าไม้ในแถบนี้มีเขตป่าเต็งรังหรือป่าไม้สลัดใบ ป่าสน และป่าดิบที่น่าสนใจก็คือ พันธุ์ไม้ตระกูลปาล์ม ลักษณะคล้ายต้นตาล แต่ออกผลเป็นทะลายคล้ายหมาก แม้ปัจจุบันป่าจะถูกถางไปมากก็ตาม แต่ในเขตเขาค้อก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง ภูมิอากาศบนเขาค้อเย็นตลอดปี และค่อนข้างเย็นจัดในฤดูหนาว

การเดินทาง 
จากตัวเมืองเพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์-หล่มสัก) ถึงสามแยกนางั่ว ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2258 อีกประมาณ 30 กิโลเมตร หรือเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 100 (บ้านแคมป์สน) เลี้ยวซ้ายเข้าเขาค้อตามทางหลวงหมายเลข 2196 อีกประมาณ 33 กิโลเมตร

พาหนะที่จะขึ้นเขาค้อ ไม่ควรใช้รถบัสขนาดใหญ่ เพราะมีทางโค้งมาก ถนนค่อนข้างเล็กและลาดชัน ควรใช้รถปิคกระบะหรือรถตู้สภาพดี

นักท่องเที่ยวสามารถเช่ารถสองแถวได้ที่ปากทางขึ้นเขาค้อ บริเวณแคมป์สน กิโลเมตรที่ 100 ในราคาวันละประมาณ 600 บาท รถจะมีตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. หรือที่บริเวณตลาดเทศบาล ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ ราคาวันละประมาณ 800 บาท

สิ่งอำนวยความสะดวก 
บนเขาค้อมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ บ้านพักทหารม้า กิโลเมตรที่ 28 ทางหลวงสาย 2196 กองพลทหารม้าที่ 28 และเรือนพักผู้ติดตาม บริเวณพระตำหนักเขาค้อ ติดต่อ กองพลทหารม้าที่ 1 โทร. (056) 721934-6 ต่อ 3120, 722011 นอกจากนี้ยังมีรีสอร์ทต่างๆ ตั้งอยู่บริเวณเส้นทางขึ้นเขาค้ออีกหลายแห่ง

จุดเด่นที่น่าสนใจ 

อนุสาวรีย์จีนฮ่อ
เป็นอนุสาวรีย์ทหารอาสาจากหน่วยรบกองพลที่ 93 ซึ่งมาช่วยรบในพื้นที่เขาค้อ และเสียชีวิตในการสู้รบ ตั้งอยู่เลยกิโลเมตรที่ 23 ของทางหลวงหมายเลข 2196 ไปเล็กน้อย อยู่ทางด้านซ้ายมือติดกับถนนใหญ่

ฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ)
เป็นจุดหนึ่งที่เห็นทิวทัศน์ เป็นฐานสำคัญฐานหนึ่งในการเข้ายึดพื้นที่ ปัจจุบันทางการได้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธ เปิดให้คนได้เข้าชมทุกวัน โดยการนำอาวุธปืนใหญ่ ซากรถถัง และอาวุธที่ใช้สู้รบในการรบที่บนเขาค้อมากมาย รวมทั้งการจัดห้องบรรยายสรุปแก่ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะด้วย คิดค่าชมคนละ 10 บาท

การเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 2169 เลยกิโลเมตรที่ 28 ไปเล็กน้อย แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2323 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร

อนุสรณ์สถานผู้เสียสละ
ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงสุดของเขาค้อ สร้างขึ้นเพื่อยกย่องวีรกรรมของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ได้พลีชีพในการสู้รบเพื่อปกป้องพื้นที่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2525 โดยสร้างด้วยหินอ่อนเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงสูง หมายถึง การปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ และทหาร

ฐานกว้าง 11 เมตร หมายถึง ปี พ.ศ. 2511 อันเป็นปีที่เริ่มปฏิบัติการรุนแรงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)

ความสูงจากแท่นบูชาถึงยอดสูง 24 เมตร หมายถึง ปี พ.ศ. 2524 อันเป็นปีที่เริ่มยุทธการครั้งใหญ่

ความสูงจากฐานถึงยอดอนุสรณ์สถาน 25 เมตร หมายถึง ปี พ.ศ. 2525 อันเป็นปีสิ้นสุดการรบ

ความกว้างฐานสามเหลี่ยมด้านละ 2.6 เมตร หมายถึง ปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นปีที่สร้างอนุสรณ์สถาน

ผนังภายในบันทึกประวัติ และรายชื่อวีรชนผู้เสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ

การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ) อยู่เลยไปอีก 1 กิโลเมตร

เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุเขาค้อ
ตั้งอยู่บนยอดเขาติดกับหอสมุดนานาชาติเขาค้อ บ้านกองเนียม ตำบลเขาค้อ ที่ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริธาตุ ซึ่งอันเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในวันสำคัญทางศาสนาจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวมาร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีเวียนเทียน เป็นประจำ

หอสมุดนานาชาติเขาค้อ
ตั้งอยู่ที่เดียวกับเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ออกแบบเป็นรูปเพชรคว่ำ สร้างด้วยกระจกสะท้อนแสง ภายในแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ บริเวณด้านนอกของหอสมุดตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ในเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีการจักงาน “วันนัดพบเอกอัครราชทูต ณ เขาค้อ” ซึ่งมีเอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

พระตำหนักเขาค้อ
ตั้งอยู่บนเขาย่า ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเขาค้อ ทางขึ้นค่อนข้างชันมาก พระตำหนักนี้สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานโครงการในพระราชดำริ และทรงตรวจเยี่ยมราษฎร อำเภอเขาค้อ และอำเภอใกล้เคียง เป็นอาคารคอนกรีตครึ่งวงกลม มีทั้งหมด 15 ห้อง เป็นพระตำหนักที่มีรูปทรงแปลกกว่าพระตำหนักอื่นๆ บริเวณโดยรอบของพระตำหนัก ได้จัดตกแต่งด้วยพันธุ์พืช ไม้ดอกเมืองหนาวหลากชนิด

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2196 ถึงกิโลเมตรที่ 29 สี่แยกสะเดาะพง เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 2258 ขึ้นไปอีก 4 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายขึ้นพระตำหนัก ทางขึ้นค่อนข้างชัน

อ่างเก็บน้ำรัตนัย
หรืออ่างเก็บน้ำบ้านรัตนัย 1 อยู่บนทางหลวงหมายเลข 2325 เลยกิโลเมตรที่ 5 ไปประมาณ 100 เมตร จะเห็นทางเข้าอ่างเก็บน้ำทางด้านซ้ายมือ เข้าไปตามทางเดินอีกประมาณ 400 เมตร อ่างเก็บน้ำรัตนัยเป็นอ่างเก็บน้ำความจุ 2,020,000 ลูกบาศก์เมตร บนเนื้อที่ 1,600 ไร่ มีอาคารระบายน้ำล้น กว้าง 15 เมตร พร้อมทำนบดิน สูง 15 เมตร ยาว 250 เมตร ในบริเวณอ่างเก็บน้ำมีลักษณะคล้ายทะเลสาบ ในตอนเย็นจะมีลมพัดเย็นสบายเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อน

น้ำตกศรีดิษฐ์
เป็นน้ำตกที่มีน้ำตลอดทั้งปี เคยเป็นที่อยู่ของ ผกค. มาก่อน มีครกตำข้าวที่ ผกค. สร้างขึ้นโดยใช้พลังน้ำตก เป็นที่พักผ่อนรับประทานอาหารและเล่นน้ำได้ การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 2196 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 17 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 2325 อีกประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าน้ำตก

สวนสัตว์เปิดเขาค้อ
มีทั้งสัตว์ที่ปล่อยตามธรรมชาติและสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในกรง หากผู้ที่เข้าชมเป็นหมู่คณะต้องการเจ้าหน้าที่บรรยายและนำชมให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึง หัวหน้าโครงการสวนสัตว์เปิดเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกศรีดิษฐุ์ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 7 แยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร

เนินมหัศจรรย์
อยู่ตรงกลางกิโลเมตรที่ 17.5 ถนนสายนางั่ว-สะเดาะพง (หมายเลข 2258) เมื่อขับรถมาถึงตรงนี้แล้ว และดับเครื่องรถจะถอยหลังขึ้นเนินได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากภาพลวงตา เนื่องจากวัดระดับความสูงของเนินจะมีระดับต่ำกว่าช่วงที่เป็น