อารมณ์แปรปรวน

อารมณ์ที่แปรปรวนเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในช่วงตั้งครรภ์ แต่อาจไม่ค่อยได้มีการพูดถึงกันมากนัก เพระดูจะเป็นปัญหาด้านจิตใจ ไม่มีรูปธรรมชัดเจน หากนำมากล่าวเป็นปัญหาก็จะดูกลายเป็นบุคคลขี้กังวลหรือคิดมาก อาจทำให้คนรอบข้างมองในแง่ไม่ดี หรือถูกมองเป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจไปได้
  
    ดังนั้นอันดับแรกอยากขอให้คุณแม่ตั้งครรภ์และทุกท่านมองปัญหานี้เป็นเรื่องธรรมชาติ  เป็นปัญหาชั่วคราวที่เกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ และสามารถแก้ไขได้ไม่ยากจนเกินไป อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปได้มากในแต่ละบุคคล เช่น บางคนมีอารมณ์หงุดหงิด เบื่อหน่ายไปหมดทุกเรื่อง โกรธง่าย ใครก็พูดจาไม่เข้าหู ไม่มีความสุข คิดมาก อาจร้องไห้ได้ง่ายๆ โดยไม่มีสาเหตุ บางคนอาจเป็นมากถึงขั้นนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ซึมเศร้าร่วมด้วย แต่ก็อาจพบบ้างที่มีอาการตรงข้าม เช่น อารมณ์ดีผิดปกติ พูดมาก หัวเราะง่าย ใช้เงินเก่ง เป็นต้น
   
    สาเหตุหลักเชื่อว่าเกิดจากความเหนื่อยล้า และความเครียดจากที่ร่างกายปรับตัวกับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปมาก การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ก็เชื่อว่าอาจส่งผลกระทบไปยังการทำงานที่ระบบประสาท ทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้นได้  ส่วนมากอาการมักเกิดขึ้นในช่วงต้นของการตั้งครรภ์  เนื่องจากร่างกายต้องปรับรับสภาพการเปลี่ยนแปลงและยังมีอาการแพ้ท้องอีกด้วย อาการมักไม่รุนแรงและค่อยๆ ดีขึ้นเองได้
   
    ในช่วงใกล้คลอดและหลังคลอดก็อาจเกิดอาการดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากความกังวลต่อการคลอด อาจกังวลกับรูปร่างที่เปลี่ยนไป หรือการปรับตัวกับบทบาทใหม่ในการเป็นคุณแม่ในครั้งแรก

   แม้ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสุขภาพจิตและอารมณ์ของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกอย่างไร แต่เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีอารมณ์แปรปรวน เครียด หงุดหงิด หรือโมโง่าย ย่อมทำให้เกิดภาวะที่ไม่สบาย ทำให้ฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายเปลี่ยนไปในทางไม่ดี และส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้  อาจมีผลทำให้เป็นเด็กหงุดหงิด เลี้ยงยาก และเจ้าอารมณ์ ในทางตรงกันข้ามถ้าในระหว่างที่ตั้งครรภ์ คุณแม่มีความสุขและสุขภาพจิตดี ก็มักจะได้เด็กที่เลี้ยงง่าย ร่าเริง แจ่มใส ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นผลจากฮอร์โมนฮอร์โมนเอนโดฟินที่มีมากขึ้นในช่วงอารมณ์ดี ภาวะความเครียดในระหว่างการตั้งครรภ์ยังเป็นสาเหตุให้พัฒนาการต่างๆ ของทารกด้อยลงไป อาจทำให้การรับรู้ ความคิด ความจำ ความฉลาดลดลงไปได้อีกด้วย

     วิธีแก้ไข  คุณแม่ควรดูแลสุขภาพใและกายตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ กินให้ถูกส่วน ปริมาณไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป พักผ่อนให้มาก อย่าเครียดหรือหมกมุ่นกับตัวเอง  ให้หากิจกรรมเบาๆ ทำทุกๆ วัน เช่น เดินชมสวนสัก 15 นาที ฝึกโยคะ นวด แอบงีบก็ได การเปิดใจคุยกับคนรอบข้างและสามีถึงปัญหาก็จะเป็นการสร้างความเข้าใจและช่วยแก้ปัญหาได้อย่างดี

    สุดท้าย อย่ากังวลกับอารมณ์นี้จนเกินเหตุ ให้เข้าใจว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่งในช่วงตั้งครรภ์  แต่หากเกิดขึ้นนานเกิน 2 ถึง 4 สัปดาห์ และรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงการรักษาต่อไป