กระทรวงแรงงาน

กระทรวงแรงงาน

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้พิจารณาชะลอปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอีก 70 จังหวัดออกไปเป็นปี 2558 เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดย่อมได้รับความเดือดร้อน

บ่ายวันนี้ ( 20 เม.ย.) กระทรวงแรงงานเชิญตัวแทนภาคเอกชนให้คิดเห็นเพื่อกำหนดมาตรการรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอ 9 แนวทางลดผลกระทบจากการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น ให้ชะลอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในอีก 70 จังหวัดออกไปเป็นปี 2558 จากเดิมที่รัฐบาลกำหนดจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2556 รวมถึงการตั้งกองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 10,000 -200,000 ล้านบาทรวมถึงลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และลดการส่งค่าประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่ต้องการกดดันภาครัฐ แต่อยากให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน เพราะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยเหลือรายได้ให้แรงงานด้วย

ขณะที่นายบัณฑูร ลำซ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เห็นนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการให้ดี และต้องประเมินว่า ภาคธุรกิจจะรับมือไหวหรือไม่ คาดว่า 6 เดือน ถึง1 ปี น่าจะเห็นผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวได้ชัดเจน แต่ภาคธุรกิจเองควรปรับตัวด้วยการยกระดับทักษะแรงงาน และ ราคาสินค้า รวมทั้งการนำเอาเครื่องจักรมาใช้ทดแทน