ผ่าตัดคลอด

แผลผ่าตัดคลอดที่สวย
   ในการผ่าตัดคลอดนั้น ในความเป็นจริงคุณหมอจะต้องลงมือผ่าตัดที่ผนังหน้าท้องก่อน แล้วผ่าลึกลงไปในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ชั้นกล้ามเนื้อ ชั้นเยื่อบุช่องท้อง เข้าไปในช่องท้อง แล้วผ่าเปิดมดลูกเข้าไปเอาทารกและรกที่อยู่ในมดลูกออกมา  เป็นไปตามลำดับแลขั้นตอน หลังจากนั้นคุณหมอก็จะเย็บปิดแผล โดยการเย็บปิดมดลูกก่อน ตามมาด้วยการเย็บปิดชั้นเยื่อบุช่องท้อง ชั้นกล้ามเนื้อ ชั้นไขมัน และสุดท้ายคือ การเย็บปิดแผลที่ผิวหนัง
   การเย็บแผลแต่ละชั้นต้องทำอย่างถูกต้องตามลำดับขั้นตอน แต่แผลที่คุณแม่สามารถมองเห็นได้มีเพียงแผลเดียว ซึ่งก็คือแผลที่ผนังหน้าท้องนั่นเอง ดังนั้นจึงขอเล่าเน้นเฉพาะแผลที่ผนังหน้าท้องที่มองเห็นได้เท่านั้นค่ะ

ปัจจัยที่ทำให้แผลผ่าตัดคลอดสวย
– เนื้อเยื่อของตัวคุณแม่เอง
  คุณแม่บางคนหลังผ่าตัดคลอดแผลหน้าท้องที่เกิดจากการผ่าตัดเป็นเพีงเส้นเล็กๆ บางคนก็เล็กมากจนแทบมองไม่เห็นเลยก็มี ในขณะที่แผลผ่าตัดของคุณแม่บางคนกลับนูนแข็งขึ้นมา บางคนก็นูนไม่มาก ในขณะที่บางคนก็นูนมากจนเหมือนกับมีกิ้งกือหรือตะขาบเกาะที่หน้าท้องก็มี บางคนแผลที่นูนยังทำให้เจ็บได้ด้วย โดยเฉพาะเวลานั่งหรือบิดตัว แผลที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งเรียกว่า คีลอยด์ (Keloid) บางคนซึ่งฉีดวัคซีนที่ต้นแขนแล้วเป็นก้อนปูดขึ้นมา ก็มักจะเป็นไอ้เจ้าคีลอยด์ที่ว่านี้แหละ 
   ทำไมคนเราบางคนถึงเป็นคีลอยด์หรือแผลนูนได้ง่าย คำตอบก็คือ น่าจะเป็นจากคุณภาพของเนื้อเยื่อของแต่ละบุคคลในการตอบสนองต่อการหายของแผลที่ต่างกัน

– โรคประจำตัว
   คุณแม่ที่ตั้งท้องบางรายมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดใต้ผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้ตัวเอง (เช่น โรค SLE) โรคเหล่านี้จะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณแผลผ่าตัดได้ไม่ดีพอ เมื่อมีการผ่าตัดที่บิเวณหน้าท้อง แผลก็จะติดไม่ดี ทำให้ขอบแผลไม่เรียบ บางรายโชคไม่ดีแผลติดเชื้อหรือแผลเน่าก็มี
   ดังนั้นก่อนจะผ่าตัดคลอด ส่วนมากแล้วคุณหมอจะต้องพยายามควบคุมโรคเหลานี้ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เช่น ถ้าเป็นเบาหวานก็ต้องควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเสียก่อน การเตรียมผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ ให้ดีก่อนผ่าตัดช่วยทำให้แผลิดดีขึ้นและมีความสวยงามมากขึ้นได้

–  ลักษณะของแผลผ่าตัด
    เวลาผ่าตัดคลอด แพทย์สามารถลงมีดที่ผนังหน้าท้องได้ใน 2 ลักษณะ อย่างแรก คือการลงมีดในแนวตั้งจากใต้สะดือลงมาถึงประมาณหัวหน่าว ในทางการแพทย์เรียกการลงมีดแบบนี้ว่า “การลงมีดเปิดแผลตามยาว” (Midline Incision) ซึ่งภายหลังการเย็บปิดแผลจะเห็นเป็นเส้นตรงที่หน้าท้องชัดเจน เป็นเส้นใหญ่หรือเส้นเล็กแล้วแต่เนื้อเยื่อของแต่ละคน อย่างไรก็ตามแผลแบบนี้มองอย่างไรก็มักจะไม่สวย
   การลงมีดกรีดแผลอีกแบบ คือ การลงมีดในแนวขวางเพื่อให้ขนานกับรอยย่นที่หน้าท้องที่คุณแม่มีอยู่ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเวลาแขม่วท้อง แผลแบบนี้จะเป็นรอยกลมกลืนไปกับรอยย่นของผนังหน้าท้อง ถ้าเป็นเส้นเล็กๆ จะมองแทบไม่เห็นทำให้แผลสวยกว่าการลงแผลตามยาว และถ้าคุณหมอลงแผลแบบนี้ที่บริเวณสูงกว่าหัวหน่าวเพียงเล็กน้อย เวลาใส่กางเกงในอาจมองไม่เห็นแผลเลย หลายคนจึงเรียกการลงมีดแบบนี้ว่า Bikini Surgery

–  วัสดุที่ใช้เย็บแผลหรือยึดติดแผล
   วัสดุที่ใช้เย็บแผลมีหลายชนิด เช่น ไหมเย็บแผลทั้งชนิดที่ละลายได้ และไม่ละลาย ซึ่งทำมาจากสิ่งต่างๆ หลายชนิด เช่น สารเคมีบางชนิด เนื้อเยื่อของลำไส้แกะ และไนล่อน เป็นต้น วัสดุที่ใช้เย็บแผลต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติแตกต่างกันชนิดที่ไม่ละลายจะทำให้การติดของแผลแข็งแรงกว่า โอกาสแผลแยกน้อยกว่าชนิดที่ละลายหายกลมกลืนไปกับเนื้อเยื่อ แต่มีข้อเสียคือต้องตัดไหมภายหลังและรอยแผลจากการใช้วัสดุเหล่านี้ก็อาจมองเห็นได้ชัด ดูไม่สวยงาม 
   ในปัจจุบันเริ่มมีการนำวัสดุปิดแผลชนิดใหม่มาใช้ โดยภายหลังที่เย็บชั้นใต้ผิวหนังให้มาเกือบชิดกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผลที่ผิวหนังอีก เพียงแค่ดึงให้ขอบแผลทั้ง 2 ข้างมาชิดกันแล้วใช้กาวทาแผลยึดให้ขอบแผลทั้งข้างแนบสนิทติดกัน กาวจะมีความเหนียวคล้ายกาวตราช้าง ข้อดีคือไม่ต้องตัดไหม ไม่ต้องปิดพลาสเตอร์ คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ทันทีหลังปิดแผลเพราะกาวกันน้ำได้ กาวจะลอกตัวออกมาได้เองในวันที่ 7-10 ซึ่งแผลมักจะติดกันสนิทดีแล้ว
   ความสวยงามของแผลขึ้นอยู่กับวัสดุปิดแผล การเย็บแผลด้วยไนล่อนจะทำให้แผลสวยกว่าการใช้ไหมที่คล้ายกับเส้นด้ายเย็บแผล ขนาดของไหมเย็บแผลก็มีความสำคัญ ยิ่งมีขนาดเล็กแผลก็จะยิ่งเล็กและสวยงาม

–  การเย็บแผลของคุณหมอ
  ฝีมือในการเย็บปิดแผลของคุณหมอมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสวยงามของแผล คุณหมอที่เย็บแผลอย่างประณีต ก็ย่อมทำให้แผลสวยกว่าคุณหมอที่เย็บแผลแบบรีบๆ หรือลวกๆ