12.20น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเริ่มอ่านคำวินิจฉัย

 

12.35น. ศาล รธน. ชี้มีอำนาจในการวินิจฉัยคดีนี้ เนื่องจาก นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ยังถือว่าอยู่ในการปฎิบัติหน้าที่

 

13.00น. ศาลรธน. ชี้ “ยิ่งลักษณ์” มีส่วนร่วมย้ายถวิล โดยลงมติอนุมัติ และได้ร่วมประชุมกับ ครม.ด้วย

 

13.14น. ศาล รธน.ชี้โยกย้าย ถวิล มีความเร่งรีบ พิรุธอย่างโจ่งแจ้ง กระทำรวบรัดโดยปราศจากความจำเป็น ใช้หนังสือโยกย้ายเท็จ ปกปิดกระบวนการโยกย้าย มีเอกสาร-ภาพถ่ายระบุเท็จ

 

13.25น. การย้ายนายถวิลปรากฎชัดว่า เป็นการก้าวก่าย แทรกแซง แต่งตั้ง โยกย้าย เนื่องด้วยปรากฎข้อเท็จจริงว่า พล.ต.อ เพียวพันธ์ เป็นพี่ชายคุณหญิง พจมาน เป็นเครือญาติของ นางสาวยิ่งลักษณ์ เชื่อได้ว่า การกระทำครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อประเทศชาติ หรือประชาชน แต่เป็นการทำเพื่อพวกพ้อง เป็นการกระทำอันขาดคุณธรรม จริยธรรม

 

13.30น. ศาลรน. มีมตินายก ยิ่งลักษณ์ ก้าวก่ายแทรกแซงโยกย้ายถวิล มีผลให้ความเป็นนายกสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

 

13.40น. มติศาลรธน. “ยิ่งลักษณ์” สิ้นสภาพนายกฯ เป็นความผิดเฉพาะตัว

 

13.45น. ศาลรธน. ชี้ ครม. ทุกคนที่ร่วมประชุม และลงมติโยกย้าย นายถวิล เป็นเหตุให้รัฐมนตรีสิ้นสุดลงไปด้วย ส่วน ครม.คนอื่นยังคงอยู่รักษาการจนกว่าจะมีครม.ใหม่

 

รายชื่อครม. 9 คนที่ต้องสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีไปด้วย สุรพงษ์ โตวิจักรชัยกุล ,เฉลิม อยู่บำรุง ,กิตติรัตน์ ณ ระนอง,ประชา, ยุทธศักดิ์, สันติ, อนุดิษฐ์, ศิริวัฒน์และ ปลอดประสพ สุรัสวดี

 

>>> ถวิล เปลี่ยนศรี ชายผู้ทำให้ ยิ่งลักษณ์ ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

 

——————————————–

 

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีคำร้องขอให้พิจารณาสถานภาพการเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่ได้ไต่สวนพยานในคดีดังกล่าวครบทั้ง 4 ปากแล้ว โดยได้นัดอ่านคำวินิจฉัยวันนี้ (7 พ.ค.)  เวลา 12.00 น.

 

โดยก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ให้ถ้อยคำ ในฐานะพยานปากสุดท้าย ยืนยันว่า ตนมีความสมัครใจในการโยกย้ายจากตำแหน่ง ผบ.ตร. ไปเป็นเลขาธิการ สมช. ไม่มีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม หรือมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด ซึ่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น

 

ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ตัดสินใจย้ายจาก ผบ.ตร. มาเป็นข้าราชการประจำ เนื่องจากขณะนั้น รู้สึกเสียใจที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ตำหนิติเตียนด้วยถ้อยคำรุงแรง โดยระบุว่า เป็นตำรวจคุมบ่อนคุมซ่อง จึงเกิดความไม่สบายใจ เพราะไม่สามารถทำงานกับผู้บังคับบัญชาลักษณะนี้ได้ จึงปรึกษากับ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เพื่อขอย้ายงาน และได้รับการทาบทามในเวลาต่อมา แต่ทั้งนี้ ไม่ทราบมาก่อนว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.

 

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ยืนยัน ไม่ยึดติดตำแหน่ง เมื่อได้รับมอบหมายก็พร้อมจะทำหน้าที่